นักการตลาด ไม่ใช่จะเป็นอาชีพที่เกิดขึ้นมาเฉพาะหน่วยงานเอกชนเท่านั้น ในสายงานอาชีพข้าราชการก็มีความจำเป็นเช่นกัน เพราะยังคงต้องทำการแข่งขัน ประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ของหน่วยงานรัฐ ให้เข้าถึงประชาชนให้มากที่สุด เสมือนหนึ่งเราต้องเข้าถึงใจของประชาชนให้มาก
“นักการตลาด” (Marketer) อีกหนึ่งอาชีพที่เปรียบเสมือนหัวใจสำคัญขององค์กร ผู้มีหน้าที่วางแผน ขับเคลื่อนงานการตลาด (Marketing) ขององค์กรนั้น ๆ ให้สำเร็จ บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ หน้าที่รับผิดชอบหลัก ๆ ของ ‘นักการตลาด’ คือการวางแผน วางกลยุทธ์ต่าง ๆ ให้องค์กรเพื่อพัฒนาสินค้าหรือบริการต่าง ๆ ให้ไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งที่ตรงใจผู้บริโภคและกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด โดยเฉพาะในยุคปัจจุบันที่เรียกได้ว่าเป็นยุคที่ข่าวสาร สถานการณ์หรือเทรนด์ต่าง ๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นักการตลาดจึงจำเป็นต้องปรับตัวให้ทันพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เพราะจริง ๆ แล้วการตลาดนั้นอยู่ใกล้ตัวเรามาก จนบางครั้งอาจเรียกได้ว่าแฝงอยู่รอบตัวของเราเลยก็ว่าได้
จะเห็นได้ว่ามีโฆษณา การตลาดเยอะแยะมากมายในชีวิตประจำวันของเรา ซึ่งทำให้เห็นว่าการทำการตลาด การโฆษณาไม่เรื่องยาก แต่การจะทำให้การตลาดของเราประสบความสำเร็จ เป็นที่น่าจดจำ บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ดูจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก จึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่า แล้วนักการตลาดต้องทำอย่างไรล่ะ เพื่อให้กลยุทธ์หรือแผนการโฆษณาที่วางไว้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
คุณสมบัติ “นักการตลาด”
ด้วยโลกปัจจุบันที่หมุนไปอย่างก้าวไกล มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตประจำวันของคนในสังคมมากขึ้น แน่นอนว่าการบริโภคของผู้คนมักเปลี่ยนไปตามโลกที่พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกันและ “นักการตลาด” อย่างแรกคือการวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย หาปัญหา สาเหตุ ความต้องการ รวมถึงการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค เพื่อวางแผน พัฒนาสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทันยุคทันสมัย ดั้งนั้น “นักการตลาด” ควรต้องมีจึงมีดังนี้ เช่น
- มีทักษะในการคิด วิเคราะห์ สามารถเชื่อมโยง ประยุกต์สิ่งต่าง ๆ ตามสถานการณ์ของสังคมให้เข้าได้อย่างลงตัว
- มีไหวพริบ ปรับตัวเก่ง ทันต่อสถานการณ์และตามกระแสหรือนำกระแส เพื่อให้สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลง เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการของตนเอง โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีการแข่งขันกับธุรกิจ สินค้า หรือบริการเจ้าอื่น ๆ ค่อนข้างสูง
- มีความคิดเป็นระบบ มีตรรกะพร้อม ๆ กับมีความคิดสร้างสรรค์ เพราะจะต้องดูแลเรื่องการคิดตัวเลขสถิติและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกต่าง ๆ เมื่อวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคได้แล้ว จึงต้องมาใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างแคมเปญสินค้าและบริการของตนเองให้แตกต่าง มีจุดเด่นที่ไม่เหมือนคู่แข่ง ดังนั้นทั้งทักษะการคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์จึงต้องมาด้วยกัน
- มีความคล่องแคล่ว มั่นใจในตนเอง กล้าคิด กล้าเสี่ยง กล้าที่จะลงมือทำ เพราะเชื่อว่า ผลลัพธ์ใหม่ ๆ มักเกิดจากการกล้าลงมือทำในสิ่งที่แตกต่างไปจากเดิม
- ชอบวางแผน สนุกกับการแข่งขัน ทะเยอทะยานและสามารถทำงานภายใต้แรงกดดันได้ดี
นักการตลาดมีสายงานแบบไหนบ้าง
งานการตลาด หากพูดคำนี้จะดูมีขอบเขตที่กว้างมาก แต่แท้จริงแล้วงานการตลาดสามารถแบ่งประเภทได้ เช่น
- การวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาด
- การตลาดดิจิทัล
- การสื่อสารการตลาด
- การตลาดระหว่างประเทศ
- การจัดกิจกรรมทางการตลาด
- การวิจัยตลาด การวิเคราะห์ตลาด
- การโฆษณา การประชาสัมพันธ์
- นักวิชาการด้านการตลาด เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าปัจจุบันงานการตลาดมีหลากหลายมากขึ้น เนื่องจากสังคม ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป มีเทคโนโลยีที่ทันสมัย กระแสที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด งานการตลาดจึงแตกแขนงออกมามากขึ้นเพื่อรองรับ ปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคและกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น
นักการตลาด ทำงานราชการได้ไหม ?
จริง ๆ แล้วทำการงานราชการขึ้นอยู่กับตำแหน่งงานและวุฒิที่เปิดรับสมัครตามประกาศของหน่วยงานนั้น ๆ หากคุณสมบัติของเราผ่านเกณฑ์การสมัคร สำหรับวันนี้จะขอนำเสนออีกหนึ่งอาชีพที่เรียกได้ว่าเป็นประเภทย่อยของการทำงานการตลาดในองค์กรรัฐ อาชีพที่หลายคนคุ้นหูกันดีอย่าง ‘นักประชาสัมพันธ์’
การประชาสัมพันธ์ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือทางการตลาด ที่จะช่วยสร้างยุทธศาสตร์ต่าง ๆ ให้องค์กร แน่นอนว่าหน่วยงานหรือองค์กรรัฐนั้นไม่ได้ขายสินค้าและบริการเหมือนบริษัทต่าง ๆ ดังนั้น “นักประชาสัมพันธ์” จึงมีหน้าที่ดูแลภาพลักษณ์ขององค์กร ช่วยสื่อสารให้บุคคลทั่วไปรับรู้ถึงข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ขององค์กร โดยมีกระบวนการคิดที่คล้ายกับการวางกลยุทธ์การขายสินค้าและบริการ เพียงแต่นักประชาสัมพันธ์ไม่ต้องขาย เพียงแต่ให้ข้อมูล สร้างแคมเปญ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ดูแลภาพลักษณ์ของหน่วยงานให้เป็นไปตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของหน่วยงานหรือองค์กรนั้นๆ โดย “นักประชาสัมพันธ์” ไม่เพียงแต่จะสื่อสารกับบุคคลทั่วไปเท่านั้น แต่ยังต้องสื่อสารกับสื่อมวลชนและองค์กรอื่น ๆ เรียกได้ว่าใช้การตลาดเป็นเครื่องมือในการเผยแพร่วัตถุประสงค์ บทบาทหน้าที่ และเป้าหมายขององค์กร ไปยังกลุ่มเป้าหมาย เพื่อทำให้เห็นถึงภาพลักษณ์ที่ดี ที่ควรจะเป็นตามวัตถุประสงค์ของหน่วยงานหรือองค์กรของตนเอง
หากใครสนใจงาน ‘นักประชาสัมพันธ์’ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ตามประกาศรับสมัครขององค์กรหรือหน่วยงานนั้นๆ ได้ และหากคุณสมบัติของเราผ่านเกณฑ์การสมัคร ก็เตรียมตัวสอบบรรจุเป็นข้าราชการตามขั้นตอนกันได้เลย